News & Media

kenan blogs .

อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 1: หมวกขาว ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

มกราคม 26, 2023

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน ผมเดาว่าช่วงนี้คุณผู้อ่านคงยุ่งมาก ๆ ทีเดียว เพราะใกล้ปิดปีงบประมาณแล้ว ฝั่งภาคเอกชนคงต้องปั้มตัวเลขกันวุ่นวายไปหมด กลับกับฝั่งภาครัฐที่ต้องปวดหัวเพราะเงินเหลือ ก็ลำบากคนละอย่างเนอะ

สำหรับ Ministry of Learning สัปดาห์นี้จะถอยจากเรื่องเครียด ๆ ในวงการศึกษาเปลี่ยนอารมณ์มาคุยเรื่องการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตัวเองกันบ้างดีกว่า โดยผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งว่าไม่ลองเขียนบทความเป็น Series เหรอ? เพราะสามารถลงลึกในเชิงเนื้อหาได้มากขึ้น กอปรกับความเป็น Blog ที่ยังไงคุณผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านบทความที่คาบเกี่ยวกันได้สะดวกอยู่แล้ว เลยขอประเดิม Series แรกด้วยเรื่องการคิดแบบหมวก 6 ใบแล้วกัน

ผมเคยเขียนเรื่อง “การเมือง เรื่องที่ต้องใช้หมวก 6 ใบ” ไปแล้ว โดยในตอนนั้นเป็นการแนะนำเครื่องมือที่ใช้คิดวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่ค่อนข้างวุ่นวายเป็นสำคัญ ส่วนครั้งนี้จะเขียนในเชิงของการประยุกต์ในเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ผมในฐานะผู้ใช้คนหนึ่งที่ใช้ตั้งแต่การคิดเพื่อตัดสินใจอะไรคนเดียว หรือ ใช้เพื่อดึงแนวคิดจากทีมเพื่อสร้างอะไรใหม่ ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย

สำหรับตอนแรกจะเป็นหมวกใบแรกที่อยากแนะนำคือ “หมวกขาว” โดยเจ้าของแนวคิดคือ Edward de Bono เลือกใช้สีขาวเพราะต้องการสื่อถึงความบริสุทธิ์ โดยเราจะต้องทำความคิดและสติเราให้พร้อมกับการ “เปิดรับ” ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเข้ามาโดยมีเทคนิคเสริมดังต่อไปนี้

เทคนิคที่ 1 ปรับสมองให้เป็น Info Mode โดยการเลือกรับ “ความจริง” หรือ “ข้อเท็จจริง” เป็นสำคัญ แม้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าเราจะดราม่าน้ำตาแตก ก็ขอให้ฟังและสังเกตหาข้อมูลที่ซ่อนอยู่ภายใต้ “ความคิดเห็น” นั้น ๆ เพราะมันใช้เวลาแป็บเดียว ไม่ต้องกลัวคนอื่นหาว่าเราเป็นคนใจหินอะไรเพราะเดี๋ยวเราก็จะต้องใช้หมวกแดงกันอยู่แล้ว มีเวลาให้ปล่อยของแน่นอนไม่ต้องห่วง ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคแรกคือการแก้ตั้งแต่เราจะ Intake ข้อมูลเข้ามาเป็นสำคัญว่าต้องเลือกรับแต่ในสิ่งที่เป็นความจริง ข้อเท็จจริง หรือ ความคิดเห็นให้ได้

เทคนิคที่ 2 ตัดอารมณ์เราเองให้ขาด ข้อมูลบางอย่าง เช่น ภาพ เรื่อง เหตุการณ์ ชื่อ คำ วลี หรือ ประโยคมีอิทธิพลกับใจของเราทางใดทางหนึ่ง เหมือนกรรไกรคม ๆ ที่มาตัดหนังสติ๊กที่เหนี่ยวไกรอไว้ให้เรารู้สึกได้หลายอย่างทั้งความรัก โลภ โกรธ หลง ดังนั้นการตัดอารมณ์นี้ต้องเปิดรับข้อมูลอย่างมี “อุเบกขา” อ่าน ดู ฟัง อย่างที่มันเป็น ท่องไว้ “ตถตา – มันเป็นเช่นนั้นเอง” ผมทราบว่ามันไม่ง่ายแต่จุดนี้แหละที่ทำให้คนใช้หมวก 6 ใบไม่สำเร็จ บางทีเราไม่ชอบคนนี้…หมั่นใส้ บางทีเราแอบเป็นห่วงคนนี้…เพื่อนฉัน หรือ บางทีเราเคารพมากเพราะยังไงก็เป็นคนมีบุญคุญกับที่บ้าน พวกนี้แหละทำให้เราเขวได้หมด ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคที่สองคือการจัดการกับความคิดเราเองระหว่างที่กำลังรับข้อมูลในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก

เทคนิคที่ 3 อย่าอ่านใจ อันนี้ต้องโดยเฉพาะกับคุณผู้อ่านที่มีความคิดเฉียบคม หลายครั้งเรามีความสามารถในการ Read in Between the Line หรือกลุ่มที่เป็น Active Reader/Listener จะต้องสะกิดตัวเองให้ดี ๆ เพราะคนกลุ่มนี้บางทีเพื่อนพูดมายังไม่ครบประโยคเลยแต่สามารถสร้างภาพในหัวมารอได้แล้ว บางทีเห็นชัดกว่าต้นทางอีก กลายเป็นแทนที่จะได้ข้อมูลของแท้ก็จะได้ข้อมูลสังเคราะห์แทน ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคที่สามนี้คือการจัดการกับความคิดเราเองระหว่างรับข้อมูลในแง่ของความตรง (Validity) ของข้อมูลที่รับมา

เทคนิคที่ 4 อย่าสรุปเบี้ยว คุณผู้อ่านต้องเคยเจอแน่นอน บางทีสัมมนาหรือประชุมอะไรกันเสร็จ เพื่อนเล่ามาอย่างคนฟังสรุปไปอีกอย่างแบบเฉยเลย บางคนแต่งตอนหัว ตอนกลาง ตอนท้าย แล้วแต่ลีลา ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลอะไรที่ไม่ตรงได้ ทางแก้คือการเก็บข้อมูลแบบ Verbatim หรือใครว่ายังไงก็เก็บมาแบบนั้น แล้วค่อยมาแกะอีกทีว่าข้อมูลจริง ๆ นั้นคืออะไร เพราะผมเคยเจอบางคนเขาอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานมาก ๆ พอฟังเรื่องอื่นมาก็บอกว่า “นี่แหละ เหมือนของฉันเลย” หรือ “จริง ๆ มันเป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละ” อ้าว? ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคนี้ที่สี่นี้จะอยู่ที่การจัดการกับการสรุปข้อมูลแล้วว่าทำอย่างไรไม่ให้สรุปไปอย่างอื่น

เทคนิคที่ 5 บันทึกเดี๋ยวนึกไม่ออก ถ้าเราเป็นคนที่จะต้องทำอะไรหลายเรื่อง ๆ แล้ว การบันทึกไว้ไม่ว่าจะด้วยการจด พิมพ์ หรือ ถ่ายรูปบนกระดานที่ประชุมจะช่วยให้เราสามารถกลับมาต่อเรื่องเดิมได้ง่ายกว่าการจำออกไปทั้งนั้น โดยเฉพาะเวลาประชุมต้องมีบันทึก ผมรู้ว่าหลายคนที่ต้องเขียนมักจะบ่นว่าเสียเวลา แต่จริง ๆ แล้วท่านได้ช่วยประหยัดเวลาให้องค์กรอย่างมากในการกลับมาอ้างอิง ในขณะที่การคิดคนเดียวก็ควรมีสมุดบันทึกเก็บรายละเอียดเอาไว้เพื่อให้เราจะได้กลับมาคิดต่อได้ถูก โดยการบันทึกจำเป็นต้องให้ทราบที่มาของข้อมูลด้วย (ไม่ต้องละเอียดเหมือนวิจัยก็ได้ แต่ควรรู้ว่ามาจากไหน) ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคสุดท้ายในวันนี้คือการบันทึกสิ่งที่จะดึงให้เรากลับมาสู่ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเอง

โดยสรุปในภาพกว้าง หากคุณผู้อ่านอยากใช้หมวกขาวเก่ง ๆ สามารถประยุกต์หลักกาลามสูตรมาเสริมดูว่าการอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่แรกพบนั้นเป็นยังไง เพราะการมีข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนคือต้นทุนทางปัญญาที่จะเอาไปค้นหาอะไรต่อไปได้อีกไม่รู้จบ

สุดท้ายคือเราสามารถกลับมาที่หมวกขาวอีกทีเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อไหร่ที่เราพบ “ข้อมูลใหม่” ในเรื่องเดียวกันเราก็เปิดรับและค่อยจับมาเปรียบเทียบ ข้อมูลไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไปก็ได้ เพราะในความเป็นจริง “สมมติสัจจะ” เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ดังนั้นเก็บ แต่อย่าขังตัวเองไว้กับข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง

สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 1 นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการเก็บเกี่ยวข้อมูลอย่างรอบคอบ และ สัปดาห์หน้าเรามาต่อกันที่หมวกแดง จะแรงแค่ไหนโปรดติดตาม สำหรับวันนี้สวัสดี

Share this article

Related Blogs.

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ...ซองเงินงบประมาณ ช่วยเราได้
วางแผนการเงินนั้นสำคัญไฉน? โดย ณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ...
Talking about development....พูดถึงเรื่องเงินๆทองๆ
“ฝากเงินแบบไหนดี…ที่เหมาะกับตัวคุณ” เขียนโดย น.ส. สุวิภา ฉลาดคิด ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ...
Big-rock-GIF2-smaller
การเรียนรู้ผ่านโครงงานในโรงเรียนกับโครงการโบอิ้งยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี
โสภณ อั๋นบางไทร ครูจากโรงเรียนวัดโพธิ์แทน จังหวัดนครนายก พบกับความท้าทายเช่นเดียวกับครูในโรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ...

Latest Blogs.

View more
Slide 1 Heading
Lorem ipsum dolor sit amet consectetur adipiscing elit dolor
Click Here
Slide 1 Heading
Lorem ipsum dolor sit amet consectetur adipiscing elit dolor
Click Here
Slide 1 Heading
Lorem ipsum dolor sit amet consectetur adipiscing elit dolor
Click Here
Slide 1 Heading
Lorem ipsum dolor sit amet consectetur adipiscing elit dolor
Click Here

Subscribe to our newsletter!

Kenan Foundation Asia believes in a world where
vulnerable populations are empowered to succeed in
an inclusive society.

Thailand Charitable Organization Registration #350, under the Ministry of Finance US 501(c)3 Equivalency Status